สื่อความจริง

ธันวาคม 25, 2009

พระรัตนะตรัย

Filed under: ธรรมะ — ภูวเดช @ 6:37 pm
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา ( เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น )
อะระหัง ( เป็นผู้ไกลจากกิเลส ) สัมมาสัมพุทโธ ( เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง )
วิชชาจะระณะสัมปันโน ( เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ )
สุคะโต ( เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี ) โลกะวิทู ( เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง )
อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ ( เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า )
สัตถาเทวะมนุสสานัง ( เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย )
พุทโธ ( เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ) ภะคะวาติ. ( เป็นผู้มีความเจริญจำแกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ )

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ( พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว )
สันทิฏฐิโก ( เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง )
อะกาลิโก ( เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล )
เอหิปัสสิโก ( เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด )
โอปะนะยิโก ( เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว )
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. ( เป็นสิ่งที่ผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ ฯ )

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว )
อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว )
ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว )
สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว )
ยะทิทัง ( ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ )
จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา ( คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ )
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า )
อาหุเนยโย ( เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา )
ปาหุเนยโย ( เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ )
ทักขิเนยโย ( เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน )
อัญชะลีกะระนีโย ( เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี )
อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ. ( เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ )

ธันวาคม 8, 2009

สังคมกะพี้ที่มีอัตตาสูง

Filed under: ธรรมะ — ภูวเดช @ 6:55 am

หลายวันที่ผ่านมา ผมสังเกตุเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมกะพี้ที่มีอัตตาสูง ทำไมจึงพูดเช่นนั้น หลายๆเรื่องมันสะท้อนอย่างนั้นครับ ก่อนที่จะพูดกันต่อไป ต้องย้ำกับคำว่าสังคม ก่อนว่าคือ ที่ที่คนหมู่มากอยู่รวมกัน การพูดว่าสังคมเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในสังคมเป็นอย่างนั้น แต่เป็นผลรวมๆที่คนส่วนใหญ่ในสังคมแสดงและสะท้อนออกมาในรูปแบบต่างๆ

ตัวอย่างแรก “นี่หรือเมืองพุทธ” เรามักจะได้ยินได้ฟังคำพูดนี้บ่อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีต่างๆขึ้น เช่น พระสงฆ์ทำผิดกฏหมายอาญาบ้านเมืองจนต้องถูกลงโทษ ซึ่งเมื่อคิดให้ดีแล้ว คนที่บวชเป็นพระถือศีล 227 ข้อ มีเป้าหมายเพื่อพ้นทุกข์ทางโลก ถ้าเข้าถึงเนื้อหาของพระธรรมบ้าง ก็ไม่น่าจะเกิดเรื่องทำผิดขนาดต้องโดนอาญาบ้านเมืองได้ ส่วนในฝ่ายฆารวาส ชาวบ้านทั่วๆไป ธรรมะพื้นๆที่จำเป็นในการดำรงค์สังคม เช่น พรหมวิหารสี่ ๑.เมตตา ๒.กรุณา ๓.มุทิตา ๔.อุเบกขา ซึ่งเป็นธรรมะสำหรับจิตใจ ก็ยังเข้าใจไม่หมด ส่วนใหญ่ ได้แค่ เมตตา บางคนสับสน เมตตากับกรุณา มุทิตาไม่ต้องพูดถึง มีแต่การเตะตัดขากันใครสำเร็จเกินตนไม่ได้ต้องเอามันลง ไม่มีการชื่นชมในความสำเร็จของคนอื่นเลย ส่วนอุเบกขาไม่รู้จักบางส่วนเข้าใจผิด ดังนี้เป็นต้น  พระธรรมของพุทธเจ้าจะเป็นระบบแยกส่วนแยกข้อไม่ได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่เห็นพุทธศาสนิกชน อ้างธรรมะเพียงบางข้อเพื่อตีความเข้าข้างตัวเอง เช่นหลักกาละสูตร ส่วนใหญ่มักจะพูดแค่ไม่ให้เชื่อ 10 อย่าง โดยไม่ได้บอกว่าพระพุทธเจ้าก็แนะนำวิธีที่จะเชื่อเอาไว้ด้วย จริงๆแล้วส่วนสำคัญของสูตรนี้อยู่ที่การจะเชื่ออย่างไรมากกว่า ธรรมะอีกข้อหนึ่งที่มักจะได้ยินส่วนเดียว คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เรามักได้ยินแค่นี้ จริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ต่อไปว่า “ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้เท่าตนเอง” และสุดท้าย “ตนที่ฝึกฝนดีแล้วเป็นที่พึ่งได้แท้” จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของพระธรรมนี้คือ การฝึกตนกลับไม่ค่อยได้ยินใครพูดกัน

นี่คือสังคมกะพี้ทางศาสนา

ตัวอย่างที่สอง “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” ในช่วงที่มีการต่อสู้ทางการมืองมากๆ มักจะได้ยินคำพูดนี้เสมอ แต่ไม่ค่อยได้ยินว่าปชต.ส่วนที่เหลือคืออะไร หลายคนพูดกันไปต่างๆนานา จนบางคน บอกว่าไม่จำเป็นต้องมี ปชต. ก็ได้ ที่สำคัญไม่ได้พูดกันคน-สองคน แต่พูดผ่านสื่อ สื่อเอาไปพูด โดยไม่มีใครตั้งคำถามเลย แม้ในพวกที่ใช้ชื่อลงท้ายว่า “…เพื่อประชาธิปไตย” ยังเสนอ เลือกตั้งแบบ 70:30 อยู่เลย บางพวกพูดว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่พอถูกถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ก็ตอบไม่ค่อยได้ ได้แต่ความรู้สึกว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ เมื่อรู้สึกไม่ตรงกัน ก็เลยทะเลาะกันใหญ่โตอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

นี่คือสังคมกะพี้ทางการเมือง

อีกตัวอย่างหนึ่ง “สินค้าไม่ต้องดีเลิศ นำเสนอให้ดี กลยุทธ์เหนือกว่าก็ชนะได้” คำพูดนี้เป็นที่เชื่อถือกันในหมู่นักการตลาด นักกลยุทธ์ธุรกิจ ฟังเผินๆก็ดูท่าจะจริง แต่ลองมองจากฝั่งลูกค้าผู้ซื้อสินค้าสิครับ ดูเหมือนจะถูกหลอกโดยการนำเสนอและกลยุทธ์ธุรกิจให้ซื้อสินค้าคุณภาพรองๆลงไป เมื่อความคิดนี้ได้รับการเชื่อถืออย่างกว้างขวางออกไปในสังคม ก็แน่ใจได้เลยว่าทั้งสังคมก็เหมือนถูกหลอกให้ซื้อสินค้าคุณภาพรองๆ การที่เกิดคำพูดเช่นนั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่า การผลิตสินค้าคุณภาพเลิศนั้นต้องลงทุนลงแรงเพิ่มอีกจนเกินความสามารถขององค์กรธุรกิจนั้นๆ ทำให้สินค้าที่ได้ออกมาอาจจะแพงเกินไป หรือออกมาช้าเกินไป ไม่ทันกับเงื่อนไขธุรกิจ นั่นคือเราเข้าไม่ถึงคุณภาพที่แท้จริงของสินค้า/บริการ

นี่สังคมกะพี้ทางคุณภาพสินค้า/บริการ

ยังมีตัวอย่างทำนองนี้อีกมาก ถ้าสังเกตุดีๆจะเห็นได้ทุกวงการ

โดยเหตุที่สังคมส่วนใหญ่เข้าถึงแต่กะพี้ของเรื่อง แต่โดยไม่รู้ตัวสังคมกะพี้ทั้งสังคมนั้นต้องการแก่นแท้ของทุกเรื่อง เราต้องการเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ เราจึงพูดทำนองตำหนิว่า นี่หรือเมืองพุทธ เราต้องการ ปชต. โดยแก่นแท้ เราจึงพูดว่า ปชต.ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง เราต้องการสินค้าคุณภาพเลิศ แต่ยังทำไม่ได้

การหวังแล้วยังไม่ได้อย่างที่หวัง ทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายปมด้อยในใจ ทางออกหนึ่งที่คนใช้จัดการความรู้สึกนี้คือ ยกปมเด่นอื่นขึ้นมากลบปมด้อยนั้น เรื่องใดหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดปมเด่นขึ้นก็ใช้ได้ และจะถูกยึดถือเอามากๆได้ถ้าได้อยู่กับปมเด่นนั้นนานพอ และถ้าใครมาลดความน่าเชื่อถือของปมเด่นนั้นก็จะถูกต่อต้านเอามากๆ ปัญหาในสังคมทุกวันนี้คือ ปมเด่นของบางกลุ่มไปลบปมเด่นของบางกลุ่ม จึงต้องต่อสู้กัน นั่นคือ สังคมมีอัตตาสูง

ทางออกเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะบอกว่าใครสักคนอยู่ที่กะพี้ของเรื่องของเขานี่มันยาก อาจจะถูกปทุษร้ายเอาได้ง่ายๆด้วย เพราะการทำเช่นนั้นคือการลดความเชื่อมั่นในตัวเขาเองลง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะสำรวจกันเอง เข้าใจกันเอง แก้ไขกันเอง แต่หลักก็คือ แทนที่จะไปหาปมเด่นอื่นๆ เพื่อกลบปมด้อย (ที่หวังแล้วไม่ได้อย่างหวัง) แต่ละคนก็ต้องเข้าให้ถึงแก่นของเรื่องที่หวังแล้วทำให้ได้เอง ก็จะหมดปมด้อยไปโดยธรรมชาติ อัตตาก็จะลดลงไปเอง

นิสัยหนึ่งที่พึงจะให้เกิดกับคนไทยคือ การขุดคุ้ยให้ถึงเนื้อแท้ของเรื่องที่ผ่านประสาทการรับรู้ต่างๆเข้ามา อย่ารับเข้ามาแล้วเอาไปยึดถือเลยโดยไม่กลั่นกรอง ไม่พิจรารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ด้วยนิสัยขุดคุ้ยให้ถึงแก่นนี้ จะค่อยๆเปลี่ยนบุคคลไปสู่ความเป็นเนื้อแท้เอง

ก็ได้เพียงแต่หวังว่าท่านผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องนี้และสำรวจตัวเองว่าเรากะพี้ในเรื่องใดๆบ้าง เรามีนิสัยเข้าถึงเนื้อแท้แล้วหรือยัง ถ้ายังก็เร่งฝึกฝนให้เกิด ถ้ามีอยู่บ้างก็ทำให้มากขึ้น ท้ายที่สุดท่านก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแก่นแท้ที่ไม่ยึดอัตตา เมื่อนั้นอาจจะเป็นเราเอง หรือลูกหลานของเราจะได้เห็น ได้อยู่ในสังคมที่สงบร่มเย็น

พฤศจิกายน 12, 2009

ครอบครองโดยไม่ครอบครอง จึงครองได้

Filed under: ธรรมะ — ภูวเดช @ 9:25 pm

มีการพูดถึงคำว่า “ครอบครอง โดยไม่ครอบครอง” ว่าไม่ใช่หลักการปกครอง แต่หมายถึง การมีความสุขกับชีวิต หากครอบครองไม่ได้ ก็ปล่อยอำนาจให้คนอื่น ลงในจุดสูงสุด

ผมเห็นว่าการเข้าใจคำพูดนั้นคลาดเคลื่อนไป แท้จริง “ครอบครอง โดยไม่ครอบครอง” นี้เป็นหัวใจของการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีบนโลกนี้ได้ ซึ่งไม่เคยเกิดในสังคมมนุษย์ใดๆเลย แต่เกิดขึ้นกับสัตว์สังคมทั้งหลายเช่น มด,ผึ้ง,ปลวก เป็นต้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“ครอบครอง โดยไม่ครอบครอง” คือการอยู่ร่วมกันอย่างพึงพาอาศัยกันโดยสมบูรณ์ของทุกหน่วยในสังคม และทุกหน่วยในสังคมก็พึ่งพาอาศัยโดยสมบูรณ์กับธรรมชาติแวดล้อมด้วย จึงไม่จำเป็นต้องครอบครองใครและ/หรือครอบครองอะไร แต่เมื่อต้องการจะใช้ใคร/อะไรเพื่อการทำหน้าที่ก็ใช้ได้เต็มที่ ซึ่งเหมือนกับครอบครองทุกคน/ทุกอย่างไว้ได้ คนในสังคมจะไม่ต้องเบียดเบียนกันเองและไม่ต้องเบียดเบียนธรรมชาติแวดล้อมด้วย สังคมจะเคลื่อนไปโดยสอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็นสังคมที่สงบร่มเย็นนำมาซึ่งความสุขอย่างยั่งยืนของคนในสังคม

ภายใต้ “ครอบครอง โดยไม่ครอบครอง” นี้ทุกหน่วยในสังคมจะมีหน้าที่เฉพาะของตัวเองที่จะทำไปโดยสอดคล้องกับธรรมชาติ หน้าที่ต่างๆเหล่านั้นก็ถูกออกแบบไว้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม มอบหมายให้เฉพาะกับหน่วยสังคมอย่างเหมาะเจาะลงตัว แต่ละหน่วยของสังคมเหล่านั้นก็เข้าใจถ่องแท้กับ ภาระกิจในหน้าที่ของตัวเอง ทั้งหมดทุกส่วนสังคมจึงเดินร่วมกันไปสู่จุดหมายของสังคมได้

การจะเกิด “ครอบครอง โดยไม่ครอบครอง” ในสังคมคนนั้นเป็นเรื่องยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะคนในสังคมต้องถูกกำหนดหน้าที่ให้สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ และจะต้องถูกฝึกฝนให้ทำหน้าที่นั้นๆได้อย่างดี  ทุกคนทุกส่วนจะใช้ทรัพยากรเท่าที่ต้องทำหน้าที่เท่านั้น ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น ซึ่งขัดกับความอยากโดยธรรมชาติของคน การปกครองแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้เฉพาะกับสัตว์สังคมเท่านั้น เพราะสัตว์ทำหน้าที่ไปได้ด้วยสัญชาติญาณธรรมชาติ ไม่ต้องฝึกฝนอะไรอีก

หวังว่าข้อเขียนสั้นๆนี้จะก่อให้เกิดประกายการถกเถียงต่อไป อาจจะเกิดทางออกใหม่ดีๆสำหรับสังคมไทยได้

ตุลาคม 23, 2009

โยนิโสมนสิการ 10 วิธี

Filed under: ธรรมะ — ภูวเดช @ 5:02 am

พระพทุธเจ้าได้ทรงสอนวิธีการคิด เพื่อให้รู้เท่าทันเรื่องราวต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเป็นประโยชน์มากที่จะช่วยให้เราอยู่ในสภาพสังคมข่าวสาร ที่เราถูกระดมด้วยข่าวสารที่แหล่งข่าวใช้เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้เราหลงเดินตามความต้องการของเขา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของแหล่งข่าวเหล่านั้นเอง

วิธีการคิดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ขื่อ โยนิโสมนสิการ (อ่านว่า โย-นิ-โส-มะ-นะ-สิ-กาน) ซึ่งมีทั้งหมด 10 วิธี ข้อความข้างล่างนี้ เป็นโยนิโสมนสิการ 10 วิธี ที่ถ่ายทอดโดย พระราขวรมุนี

โยนิโสมนสิการ 10 วิธี
ของ พระราชวรมุนี

เพื่อให้ปรโตโฆสะ นำไปสู่โยนิโสมนสิการ ทำให้คนรู้จักคิด หรือคิดเองเป็นอันจุดเริ่มของการศึกษา และจำเป็นสำหรับการที่จะมีการศึกษา จึงจะเสนอวิธีคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้สัก 10 วิธี

คนทั่วไปซึ่งได้สั่งสมความเคยชินให้จิตมีนิสัยแห่งการคิดในแนวทางของการสนองตัณหาหรือคิดโดยมีความไม่ชอบใจเป็นพื้นฐานมาเป็นเวลายาวนาน วิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆนี่จะเริ่มเป็นเครื่องฝึกในการสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิต การสร้างนิสัยใหม่นี้ อาจจะต้องการใช้เวลานานบ้าง เพราะนิสัยเดิมเป็นสิ่งที่ได้สั่งสมมานานคนละเป็นสิบๆปี แต่เมื่อได้ฝึกขึ้นบ้างแล้วก็ได้ผลคุ้มค่า เพราะเป็นการที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้แก้ปัญหาดับความทุกข์ได้แม้จะยังทำไม่ได้สมบูรณ์ ก็ยังพอเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสมดุล และได้มีทางออกในยามที่ถูกความคิดตามแนวนิสัยเดิมชักนำไปสู่ความอับจน ความทุกข์ และปัญหาบีบคั้นต่างๆ

อนึ่ง พึงทราบว่าวิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆถึงจะมีมากอย่าง ก็สรุปลงได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ

1. โยนิโสมนสิการประเภทพัฒนาปัญญาโดยตรง มุ่งให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริงตรงตามสภาวะแท้ๆ เน้นที่การ ขจัดอวิชชา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิอาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับสัจธรรม

2. โยนิโสมนสิการประเภทสร้างเสริมคุณภาพจิต มุ่งปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรมหรือกุศลธรรมต่างๆ เน้นที่การสกัดหรือข่มตัณหา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกีย์สัมมาทิฏฐิ อาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับจริยธรรม

วิธีโยนิโสมนสิการต่อไปนี้ บางอย่างใช้ประโยชน์ประเภทเดียว บางอย่างใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองประเภท ในที่นี้จะยังไม่แยกกลุ่มไว้ จะยกมาแสดงทีละอย่างตามลำดับที่เห็นสมควร และชี้แจงประโยชน์เป็นข้อๆไปหรือให้ผู้อ่านพิจารณาดูเอง ซึ่งก็จะแยกได้โดยไม่ยาก

1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆ ให้รู้จักสภาวะตามที่มันเป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา ค้นหาหนทางแก้ไข ด้วยการสืบสาวหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา จะเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือวิธีคิกแบบปัจจยตาการก็ได้ ในทางปฏิบัติ อาจแยกวิธีคิดนี้ได้ 2 อย่าง คือ

ก. คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ คือ เมื่อพบเหตุการณ์หรือเรื่องที่พิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มองหยั่งย้อนและสืบสาวชักโยงอกไปถึงปัจจัยต่างๆทั้งหลายที่เข้ามาสัมพันธ์นั้น ก่อให้เกิดผลหรือปรากฏการณ์นั้นๆขึ้น เช่น ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนบ่อยๆให้พระสาวกพิจารณาว่า “เมื่อสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ”

ข. คิดแบบสอบสวน หรือ ตั้งคำถาม คือ เมื่อประสบพบเห็นสิ่งใดๆที่ควรพิจารณา ก็คอยตั้งคำถามแก่ตนว่า ทำไม เพราะอะไร เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งปัญหาถามพระองค์เองก่อนตรัสรู้ว่า “ตัณหาเกิดขึ้น เพราะอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เป็นต้น หรือคิดสืบสาวหาสาเหตุจิตใจต่อไป

2. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ หรือกระจายเนื้อหา เป็นวิธีคิดสำคัญอีกแบบหนึ่งที่มุ่งเพื่อเข้าใจสิ่งต่างๆตามสภาวะของมัน ตามธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ดี ปรากฏการณ์ต่างๆก็ดี เรื่องราวต่างๆที่อุบัติขึ้นก็ดี เกิดจากส่วนประกอบย่อยๆมารวมกันเข้า เมื่อแยกแยะกระจายออกไปให้เห็นองค์ประกอบย่อยๆต่างๆได้แล้ว จึงจะรู้จักสิ่งนั้น เรื่องราวนั้นๆได้ถูกต้องแท้จริง จึงจับจุดที่เป็นปัญหาได้ และจึงจะแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างของการคิดแบบนี้เช่นที่พระพุทธศาสนาแยกแยะชีวิตออกเป็นส่วนประกอบย่อยต่างๆ เช่น เป็นขันธ์ 5 เป็นต้น

3. วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองเหตุการณ์ สถานการณ์ ความเป็ยไปของสิ่งทั้งหลายอย่างรู้เข้าใจธรรมดาธรรมชาติของมัน ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆปรุงแต่งขึ้น จึงจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้น กล่าวคือ การที่มันเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่คงอยู่ตลอดไป มีภาวะที่ถูกปัจจัยต่างๆที่ขัดแย้ง บีบคั้นได้ ไม่มีอยู่และไม่สามารถดำรงอยู่โดยไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณ์ จึงเรียกความคิดแบบนี้ได้อีกอย่างหนึ่งว่า วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ วิธีคิดแบบนี้ที่ถูกต้องต้องดำเนินไปให้ครบ 2 ขั้นตอน คือ

ก. ขั้นที่หนึ่ง รู้เท่าทันและยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา เช่น เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนาขึ้น ตั้งขึ้น สำนึกขึ้นในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองด้วยตามความอยากของเราที่อยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของมันเปลื้องตัวอิสระได้ ไม่เอาตัวไปให้ถูกกดถูกบีบ

ข. ขั้นที่สอง แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ขึ้นต่อความอยากคามปรารถนาของเราหรือใครๆ เมื่อเราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น ก็ต้องทำที่เหตุปัจจัยให้ได้เป็นอย่างนั้น แล้วแก้ไขหรือจัดทำการที่ตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อทำเหตุปัจจัยได้พร้อมบริบูรณ์ที่จะให้เป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเหตุปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้เป็น มันก็ไม่เป็น แล้วก็รู้และแก้ไขกันที่เหตุปัจจัยนั้นแหละ ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ดำรงตนอยู่เป็นอิสระ อยู่อย่างอิสระ ทำการได้ดีที่สุด พร้อมทั้งไม่มีความทุกข์

4. วิธีคิดแบบแก้ปัญหา หรือวิธีคิดแบบอริยสัจสี่ เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องจากวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ( แบบที่ 3 ) นั่นเอง คือ เมื่อเข้าใจคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลายวางใจได้และตกลงใจว่าจะแก้ปัญหาที่ตัวเหตุตัวปัจจัย จากนั้นก็ดำเนินความคิดต่อไปตามวิธีคิดแบบอริยสัจสี่นี้ วิธีคิดแบบนี้มีหลักการสำคัญคือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือทุกข์โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจปัญหาหรือความทุกข์ให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ปัญหา พร้อมกันนั้นก็กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ จะเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาดดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุดหมายที่ได้กำหนดไว้นั้น ทั้งนี้อาจจัดวางเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดรู้ คือ แจกแจงแถลงปัญหา ทำความเข้าใจปัญหา สภาพและขอบเขตของปัญหาให้เข้าใจชัดเจนว่าเป็นอะไร คืออะไร เป็นที่ตรงไหนเหมือนแพทย์ตรวจดูอาการของโรค ดูความผิดปกติของร่างกาย วินิจฉัยให้รู้ว่าเป็นอะไร ที่ตรงไหน รู้เข้าใจโรคและร่างกายเฉพาะอย่างยิ่งส่วนซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคให้ชัดเจน ( ทุกข์ )

ขั้นที่ 2 สืบสวนเหตุแห่งทุกข์ที่จะพึงละ คือ วิเคราะห์ค้นหามูลเหตุหรือต้นตอของปัญหาซึ่งจะองแก้ไขกำจัดหรือทำให้หมดสิ้นไป ตามปกติขั้นนี้ตรงกับวิธีคิดแบบที่ 1 คือ วิธีคิดแบบปัจจัยการนั่นเอง เหมือนแพทย์ค้นหาสมมุติฐานของโรค หาสาเหตุของโรค ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องตรงจุด มิใช่รักษาแต่เพียงอาการ ( สมุทัย )

ขั้นที่ 3 เล็งหมายขัดซึ่งการดับทุกข์ที่จะทำให้สำเร็จ คือ เล็งเห็นชัดเจนถึงภาวะปราศจากปัญาซึ่งมุ่งหมายว่าคืออะไร เป็นไปได้จริงหรือไม่ อย่างไร มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการทั่วไป หรือตัวกระบวนการของการแก้ปัญหาก่อนที่จะวางรายละเอียดและกลวิธีปลีกย่อยในขั้นดำเนินการ เหมือนแพทย์รู้ว่าโรคนั้นๆรักษาได้ มองเห็นกระบวนการของโรคชัดเจนว่าจะหายไปได้อย่างไร ( นิโรธ )

ขั้นที่ 4 จัดวางวิธีการดับทุกข์ที่จะต้องปฏิบัติ คือ เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายและหลักการทั่วไปแล้ว ก็กำหนดวางวิธีการ แผนการและรายการที่จะต้องทำในการที่จะแก้ไขกำจัดสาเหตุของปัญหาให้สำเร็จ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการทั่วไปนั้นเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาต่อไป ( มรรค )

5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นวิธีคิดในระดับปฏิบัติการหรือลงมือทำ คือ การที่จะกระทำการต่างๆโดยรู้และเข้าใจถึงหลักการและความุ่งหมายของเรื่องนั้นๆ จะดำเนินไปเพื่อจุดหมายอะไร เพื่อให้เป็นการปฏิบัติที่ได้ผลตามความมุ่งหมายนั้น ไม่กลายเป็นการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนเลื่อนลอยงมงาย เช่น เมื่อจะลงมือทำงานอะไรนั้น ก็ตรวจสอบตนเองให้ชัดเจนว่าเข้าใจหลักการและความมุ่งหมายของงานนั้นดีแล้วหรือไม่ โดยอาจคอยตั้งคำถามว่า อันนี้เพื่ออะไรๆ เป็นต้น

6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก คือ มองให้ครบทั้งข้อดี ข้อเสีย และทางแก้ไขหาทางออกให้หลุดรอดปลอดพ้นจากข้อบกพร่องต่างๆ เป็นวิธีมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง เน้นการศึกษาและยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆเป็นอยู่ทุกแง่ทุกมุมเพื่อให้รู้และเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งด้านดี ด้านเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ศัพท์ทางธรรมดาเรียกว่า วิธีคิดโดยรู้อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ วิธีคิดแบบนี้พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก เพราะคนทั้งหลายมักจะตื่นตามกันและเอนเอียงง่ายพอจับได้อะไรดี ก็มองเห็นแต่ดีไปหมด พอจับได้ว่าอะไรไม่ดี ก็เห็นแต่เสียไปหมด ทำให้พลาดทั้งความรู้จริงและการปฏิบัติที่ถูกต้อง อันที่จริงนั้นปกติของสิ่งทั้งหลายย่อมมีทั้งส่วนดี ส่วนเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง เป้นต้น อาจดีมาก หากอยู่ในกรณีแวดล้อมอย่างหนึ่ง หรืออาจจะดีน้อย หากได้อยู่ในกรณีแวดล้อมหรือเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่ง เมื่อได้ตระหนักและยอบรับถึงข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็งแล้ว เราก็จะได้ระมัดระวัง ปิดกั้นทางเสียหรือหาสิ่งชดเชยทดแทนให้ประโยชน์ที่ได้สมบูรณ์ต่อไป

7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ – คุณค่าเทียม หรือการพิจารณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือ การใช้สอยหรือบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา ตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ทางเทคโนโลยี มีหลักการโดยย่อว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเพราะเรามีความต้องการ สิ่งใดที่สามารถสนองความต้องการของเราได้ สิ่งนั้นก็มีประโยชน์ มีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ตามชนิดของความต้องการ คือ

ก. คุณค่าแท้ หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง มนุษย์นำมาใช้ในการแก้ปัญหาของตน เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าเป็นประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ มีสุขภาพดี มีกำลังเกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ( คุณค่านี้เกี่ยวเนื่องด้วยธรรมฉันทะ )

ข. คุณค่าเทียม หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งที่มนุษย์พกให้แก่สิ่งนั้นเพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา เพื่อเสริมความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ คุณค่านี้อาศัยตัณหาป็นเครื่องตีค่า จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองตัณหาก็ได้ เช่น อาหาร มีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน หรือความโก้หรูหราของรถยนต์ มีราคา ความสวยงามเป็นเครื่องแสดงหรือวัดฐานะ เป็นต้น

วิธีคิดแบบนี้ มุ่งให้เข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น คุณค่าแท้นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น ความมีสติ ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ เป็นต้น

8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา ส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ

หลักการทั่วไปของวิธีคิดนี้มีอยู่ว่า ประสบการณ์คือสิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างดียวกับบุคคลที่ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้าง แนวทางความเคยชินที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือ สังขาร ที่ผู้นั้นได้สั่งสมไว้หรือก็คือ สุดแต่การทำใจในขณะนั้นๆ คนหนึ่งมองแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม แต่อีกคนหนึ่งมองแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษเป็นอกุศล รวมถึงเรื่องของเวลา คราวหนึ่งคิดดี คราวหนึ่งคิดร้าย การทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดนไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เรียกว่า วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม วิธีคิดในแบบนี้มีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้นๆ และช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น การคิดถึงความตาย เมื่อคิดถึงแล้วก็จะเกิดความสลดหดหู่ ความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจ ตลอดจนเกิดความดีใจเมื่อนึกถึงความตายของคนที่เราเกลียดชัง แต่ถ้าในขณะที่เราคิดนั้น เรามีโยนิโสมนสิการอยู่ด้วย เราก็จะเกิดความรู้สึกตื่นตัว เร้าใจไม่ประมาทเร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการคิดถึความตายที่ถูกวิธี

นอกจากหลักการข้างต้นแล้ว ควรย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญที่คอยพยุงความคิดให้อยู่ในโยนิโสมนสิการ อันได้แก่ สติ ซึ่งช่วยยับยั้งความคิดที่หลงลอยไปเป็นอโยนิโสมนสิการ

อนึ่ง โยนิโสมนสิการแบบต่างๆ สรุปได้เป็น 2 คือ โยนิโสมนสิการเพื่อความรู้ตามสภาวะ ซึ่งมีลักษณะที่แน่นอนเป็นอย่างเดียว และโยนิโสมนสิการเพื่อเสริมสร้างกุศลธรรม ซึ่งมีลักษณะแผกผันไปได้หลากหลายนั้น มีจุดแยกอยู่ที่ขณะตั้งต้นความคิด และสติอาจมีบทบาทสำคัญในการเลือกทางแยกที่จุดตั้งระหว่างโยนิโสมนสิการแบบต่างๆนี้ เช่นเดียวกับที่สติสามารถเลือกระหว่างโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ

9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน คือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมดาเป็นอารมณ์ความจริง วิธีคิดแบบที่ 9 นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบที่ 8 ที่แยกแสดงออกมาเป็นอีกข้อหนึ่งต่างหากนั้นเป็นเพราะมีแง่ที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ และเป็นวิธีคิดที่มีความสำคัญโดยลำพังตัวของมัยเอง

ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้นคือ การที่ผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเข้าใจไปว่า พุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้ากำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่คิดพิจารณาเกี่ยวกับอดีต หรืออนาคต ตลอดจนไม่คิดเตรียมการวางแผนเพื่อกาลภายหน้า

ลักษณะความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดที่อยู่ในแนวทางของความรู้หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา เป็นการคิดที่สามารถรวมเอาเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่ล่วงผ่านมาแล้ว และเรื่องของกาลภายหน้าเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น การคิดพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ถือเป็นการคิดที่นำมาใช้เป็นบทเรียน ก่อให้เกิดความไม่ประมาทระมัดระวังป้องกันภัยในอนาคต เป็นต้น

คำว่าปัจจุบันในทางธรรม มิใช่เพ่งที่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นๆเป็นสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่ตามความหมายของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต ก็อาจกลายเป็นปัจจุบัน ตามความหมายของนามธรรมได้ สรุปง่ายๆว่า ความเป็นปัจจุบัน กำหนดเอาที่ความเกี่ยวข้อง ต้องรู้ ต้องทำเป็นสำคัญ สิ่งที่เป็นปัจจุบันคลุมถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เชื่อมโยงต่อกันมา

วิธีคิดแบบนี้มุ่งที่จะช่วยแบ่งแยกความคิดถึงอดีตและอนาคตตามแนวทางของตัณหาที่เพ้อฝันเลื่อนลอย ผลาญเวลาและคุณภาพของจิตใจให้สูญเปล่า การคิดที่ถูกวิธีจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติในทางปัจจุบันให้ถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น เป็นการสนับสนุนให้มีการตระเตรียมและวางเเผนในกิจการล่วงหน้า

10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่าวิภัชชวาทแปลว่า การพูดแยกแยะจำเเนกเเจกเเจง แถลงความแบบวิเคราะห์ เป็นการมองและแสดงความจริง โดยเเยกเเยะออกให้เห็นเเต่ละเเง่เเต่ละด้านให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาบางเเง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด ความจริงวิภัชชวาทเป็นชื่อเรียกระบบความคิดของพระพุทธศาสนาทั้งหมด มีความหมายครอบคลุมวิธีคิดที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้นหลายๆอย่าง

วิธีคิดแบบนี้ทำให้ความคิดและการวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เท่าความจริง พอดีกับความจริง เพื่อให้เข้าใจความหมายของวิภัชชวาทชัดเจนยิ่งขึ้น ขอจำเเนกวิธีคิดเเบบวิภัชชวาทออกไปในลักษณะต่างๆดังนี้

ก. จำเเนกโดยเเง่ด้านของความจริง เเบ่งได้ 2 อย่างเป็น
– จำเเนกตามที่เป็นอยู่จริงของสิ่งนั้นๆ คือ ของความจริงให้ตรงตามที่เป็นอยู่ในเเง่นั้นด้านนั้น ไม่ใช่จับเอาความจริงเพียงเเง่หนึ่งมาตีคลุมเป็นอย่างนั้นไปหมด
– จำเเนกโดยมองความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ครบทุกเเง่ทุกด้าน คือ ไม่มองเเคบๆ ไม่ติดอยู่กับส่วนเดียวเเง่เดียวของสิ่งนั้น เเต่มองให้หลายเเง่หลายด้าน เช่น คนๆหนึ่งอาจจะดีในเเง่นั้น เเต่ไม่ดีในเเง่นี้ การคิดจำเเนกในเเง่นี้ เป็นส่วนเสริมกันกับข้อแรกให้ได้ผลสมบูรณ์ และมีผลรวมไปถึงการเข้าใจในภาวะที่องค็ประกอบต่างๆมารวมกันโดยครบถ้วน จึงเกิดขึ้นเป็นสิ่งนั้น ๆ เป็นการเห็นที่กว้างไปถึงลักษณะด้านต่างๆและองค์ประกอบต่างๆของมัน

ข. จำเเนกโดยส่วนประกอบ คือ วิเคราะห์แยกเเยะให้รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจากองค์ประกอบย่อย ๆ ต่าง ๆ มาชุมนุมกันเข้า ไม่ติดอยู่ภายนอกหรือถูกลวงโดยภาพรวมของสิ่งนั้น ๆ เช่น การเเยกเเยะคนออกเป็นนามและรูปเป็นขันธ์ 5 เเบ่งซอยออกจนเห็นภาวะที่ไม่เป็นอัตตา

ค. จำแนกโดยลำดับขณะ คือ แยกแยะวิเคราะห์ปรากฎการณ์ตามลำดับแห่งเหตุปัจจัย ให้มองเห็นตัวเหตุปัจจัยที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เป็นวิธีที่ใช้มากในฝ่ายอภิธรรม ตัวอย่างเช่น โจรปล้นบ้านและฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย หากคิดจำแนกโดยลำดับขณะแล้ว จะเห็นว่า โจรโลภอยากได้ทรัพย์ แต่เจ้าทรัพย์เป็นอุปสรรคต่อการใช้ทรัพย์นั้น ความโลภทรัพย์จึงเป็นเหตุให้โจรมีโทสะต่อเจ้าทรัพย์ โจรจึงฆ่าเจ้าทรัพย์ ตัวเหตุที่แท้ของการฆ่าคือโทสะ หาใช่โลภะไม่ โลภะเป็นเพียงเหตุให้ลักทรัพย์ และเป็นปัจจัยให้โทสะเกิดเท่านั้น ในภาษาสามัญจะพูดว่า โจรฆ่าคนเพราะความโลภ แต่ถ้าพิจารณาตามขบวนธรรมที่เป็นไปตามลำดับขณะ ความโลภเป็นเพียงตัวการเริ่มต้นในเรื่องนั้นเท่านั้น

ง. จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย คือ สืบสาวหาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่งหรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทำให้มองเห็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ลอย ๆ แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุแห่งปัจจัย การคิดจำแนกในแง่นี้ตรงกับวิธีคิดแบบที่ 2 คือ วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย

ตามแนวคิดนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมอย่างที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชเณนธรรมเทศนา หรือ วิธีคิดแบบมัชเฌนธรรม

การจำแนกโดยสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย นอกจากช่วยไม่ให้เผลอ มองสิ่งต่าง ๆ อย่างโดดเดี่ยวขาดลอย แล้วยังครอบคลุมไปถึงการที่จะให้รู้จักกับเหตุปัจจัยได้ตรงกับผลของมัน ความขัดสนที่มักเกิดขึ้นแก่คนทั่วไป 3 อย่าง คือ

1. การนำเอาเรื่องราวอื่น ๆ นอกกรณีมาปะปะสับสนกับเหตุปัจจัยเฉพาะกรณี วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้แยกเอาเรื่องราวหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากเหตุปัจจัยที่แท้จริง รวมถึงการจับผลให้ตรงกับเหตุด้วย

2. ความไม่ตระหนักถึงภาวะที่ปรากฎการณ์หรือผลที่คล้ายกัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุปัจจัยที่ต่างกัน หรืออย่างเดียวกัน เช่น การได้ทรัพย์มาอาจเกิดจากขยันทำการงาน จากการทำให้ผู้ให้ทรัพย์พอใจ หรือจากการลักขโมยก็ได้ เป็นต้น

3. การไม่ตระหนักถึงเหตุปัจจัยส่วนพิเศษนอกเหนือจากเหตุปัจจัยที่เหมือนกัน คือ คนมักมองเฉพาะแต่เหตุปัจจัย บางอย่างที่ตนมั่นหมายว่า จะให้เกิดผลอย่างนั้น ๆ ครั้นต่างบุคคลทำเหตุปัจจัยอย่างเดียวกันแล้ว คนหนึ่งได้รับผลที่ต้องการ อีกคนหนึ่งไม่ได้รับผลนั้น ก็เห็นว่าเหตุปัจจัยนั้นไม่ได้ผลจริง

จ. จำแนกโดยเงื่อนไข คือ มองโดยพิจารณาเงื่อนไขประกอบด้วย เช่น ถ้าถามว่าบุคคลนี้ควรคบหรือไม่ ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ตอบก็อาจกล่าวว่าถ้าคบแล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรคบ แต่ถ้าคบแล้วอกุศลเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรคบ

การตอบวิภัชชวาท จะวินิจฉัยโดยพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ คือ

1. ความโน้มเอียง ความพร้อม นิสัย ความเคยชินต่าง ๆ ซึ่งเด็กได้สั่งสมไว้โดยการอบรมเลี้ยงดูและอิทธิพลทางวัฒนธรรม เป็นต้น เท่าที่อยู่ในขณะนั้น (พูดด้วยภาษาทางธรรมว่า สังขารที่เป็นกุศลและอกุศล คือ แนวความคิดปรุงแต่งที่ได้สะสมจนกลายเป็นความเคยชินเอาไว้) อาจเรียกง่าย ๆ ว่า พื้นของเด็กที่จะแล่นไป

2. โยนิโสมนสิการ คือ เด็กรู้จักใช้โยนิโสมนสิการโดยปกติหรือไม่ และแค่ไหน เพียงไร

3. กัลยาณมิตร คือ บุคคลหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยชี้แนะแนวทางความคิดความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่พบเห็น หรือที่จะชักนำให้เด็กเกิดโยนิโสมนสิการ อย่างได้ผลหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกัลยาณมิตรในครอบครัว ในสื่อมวลชนนั้น ๆ หรือทั่ว ๆ ไป ในสังคมก็ตาม

4. ประสบการณ์ คือ สิ่งที่ปล่อยให้แพร่หรือให้เด็กพบเห็นนั้น มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่เร้าหรือยั่วยุ เป็นต้น รุนแรงมากน้อยถึงระดับใด

ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นตัวแปรได้ทั้งนั้น แต่ในกรณีนี้ ยกเอาข้อ 4. ขึ้นตั้งเป็นตัวยืนคำตอบจะเป็นไปได้โดยสัดส่วนซึ่งตอบได้เอง เช่น ถ้าเด็กมีโยนิโสมนสิการดีจริง ๆ กำกับอยู่ หรือพื้นด้านแนวความคิดปรุงแต่งที่เป็นกุศลซึ่งได้สั่งสมอบรมกันไว้โดยครอบครัวหรือวัฒนธรรมมีมาก และเข้มแข็งจริง ๆ แม้ว่าสิ่งที่แพร่หรือปล่อยให้เด็กพบเห็นจะล่อเร้ายั่วมาก ก็ยากที่จะเป็นปัญหา และผลดีต่าง ๆ ก็เป็นอันหวังได้ แต่ถ้าพื้นความโน้มเอียงทางความคิดกุศลก็ไม่ได้สั่งสมอบรมกันไว้โยนิโสมนสิการก็ไม่เคยฝึกกันไว้ แล้วยังไม่จัดเตรียมให้มีกัลยาณมิตรไว้ด้วยการปล่อยนั้น ก็มีความหมายเท่ากันเป็นการสร้างเสริมสนับสนุนปัญหาและเป็นการตั้งใจทำลายเด็กโดยใช้ยาพิษเบื่อเสียนั่นเอง

ฉ. วิภัชชวาทในฐานะวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง วิภัชชวาทปรากฎอยู่บ่อย ๆ ในรูปของการตอบปัญหาและท่านจัดเป็นวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง ในบรรดาวิธีตอบปัญหา 4 อย่าง มีชื่อเฉพาะเรียกว่า วิภัชชวาทพยากรณ์ ซึ่งก็คือ การนำเอาวิภัชชวาทไปใช้ในการตอบปัญหา หรือ ตอบปัญหาตามแบบวิภัชชวาทนั่นเอง

เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ ถึงทราบวิธีตอบปัญหา (ปัญหาพยากรณ์) 4 อย่าง คือ
1. เอกังสพยากรณ์ การตอบอย่างเดียวเด็ดขาด
2. วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
3. ปฏิปจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
4. ฐปนะ การยั้งหรือหยุด พับปัญหาเสีย ไม่ตอบ
วิธีตอบ 4 อย่างนี้ แบ่งตามลักษณะของปัญหา ดังนั้น ปัญหาจึงแบ่งได้เป็น 4ประเภท ตรงกับวิธีตอบ
เหล่านั้น จะยกตัวอย่างปัญหาตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์รุ่นหลังมาแสดงประกอบความเข้าใจดังนี้

1. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบ เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงตอบได้ทีเดียวแน่นอนลงไปว่าใช่

2. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบ เช่น ถามว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงแยกแยะตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น แม้โสตะ ฆานะ เป็นต้น ก็ไม่เที่ยง

3. ปฏปจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่ไม่ควรตอบโดยย้อนถาม เช่น ถามว่าจักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้น ใช่ไหม พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายแง่ใด ถามใด หมายถึง แง่ใช้ดูหรือเห็น ก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งความหมายแง่ว่าไม่เที่ยงก็ใช่

4. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้ง หรือพับเสีย ไม่ควรตอบ เช่น ถามว่า ชีวะกับสรีระ คือ สิ่งเดียวกันใช่ไหม พึงยับยั้งเสียไม่ต้องตอบ

นี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อว่าโดยใจความปัญหาแบบที่ 1 ได้แก่ ปัญหาซึ่งไม่มีแง่ที่จะต้องชี้แจงหรือไม่มีเงื่อนงำ จึงตอบแน่นอนลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันที เช่น อีกตัวอย่างหนึ่งว่าคนทุกคนต้องตายใช่ไหม ก็ตอบได้ทันทีว่าใช่ ปัญหาแบบที่ 2 ได้แก่ แง่ซึ่งจะต้องมีเรื่องที่จะต้องชี้แจง โดยใช้วิธีภัชชวาทต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาแบบที่ 3 พึงย้อนถามความเข้าใจกันก่อนจึงจะตอบ หรือตอบด้วยอาการย้อนถาม หรือสอบถามไปตอบไป อาจใช้ประกอบไปกับการตอบ แบบที่ 2 คือ ควบกับวิภัชชพยากรณ์ในบาลี พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีย้อนถามบ่อย ๆ และด้วยการทรงย้อนถามนั้น ผู้ถามจะค่อย ๆ เข้าใจสิ่งที่เขาถามไปเอง หรือช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเอง โดยพระองค์เพียงทรงชี้แนะแง่คิดต่อให้ ไม่ต้องทรงตอบ ส่วนปัญหาแบบที่ 4 ซึ่งควรยับยั้งไม่ตอบ ได้แก่ คำถามเหลวไหลไร้สาระจำพวกหนวดเต่าเขากระต่ายบ้าง ปัญหาที่เขายังไม่พร้อมที่จะเข้าใจ จึงยับยั้งไว้ก่อน หันไปทำความเข้าใจเรื่องอื่นที่เป็นการเตรียมพื้นของเขาก่อน แล้วจึงค่อยมาพูดกันใหม่หรือให้เข้าใจได้เองบ้างปัญหาที่ตั้งมาไม่ถูก โดยคิดขึ้นจากความเข้าใจผิด ไม่ตรงตามสภาวะหรือไม่มีตัวสภาวะอย่างนั้นจริง เช่น ตัวอย่างในบาลี มีผู้ถามว่า ใคร เป็นต้น ซึ่งไม่อาจตอบตามที่เขาอยากฟังได้ จึงต้องยับยั้งหรือพับเสีย อาจชี้แจงเหตุผลในการไม่ตอบ หรือให้เขาตั้งคำถามใหม่ให้ถูกต้องตามสภาวะ

เรื่องโยนิโสมนสิการ ขอกล่าวไว้โดยย่อ เพียงเท่านี้ก่อน และขอสรุปโดยทวนหลักการทั่วไป เมื่อมีโยนิโสมนสิการสัมมาทิฎฐิก็เกิดขึ้นได้ เมื่อสัมมาทิฎฐิเกิดขึ้นองค์ประกอบมูลฐานของมรรควิธีแห่งการแก้ปัญหา หรือมรรคาแห่งความดับทุกข์ จากนั้นกระบวนการแห่งการศึกษาก็ดำเนินต่อไป

ตุลาคม 16, 2009

กาลามะสูตร

Filed under: ธรรมะ — ภูวเดช @ 9:27 am

ปัจจุบัน ด้วยอินเตอร์เน็ตกับซอฟท์แวร์ใหม่ๆ เช่น Twitter, Facebook และอื่นๆ ในกลุ่มที่เรียกว่า social media ได้อำนวยให้มวลชนทั่วโลกสื่อสารถึงกันได้ด้วยความสะดวกตลอดเวลา เหมือนกับว่ามวลชนทั้งหมดนั้นอยู่ใกล้กันในห้องเดียวกัน  ด้วยเหตุที่ข้อมูลต่างๆที่มวลชนส่งถึงกันนั้นผ่านระบบสื่อสารไปอย่างรวดเร็วไม่ผิดเพี้ยน อย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆเลย จึงก่อให้เกิดโอกาสที่จะใช้ข้อมูลหลอกลวงมวลชนได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

เรายังมีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้สอนในเรื่องการเชื่อข้อมูลต่างๆไว้เมื่อกว่า 2500 ปีที่ซึ่งยังสามารถใช้ได้ดี เหมาะกับสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง พระพทุธเจ้าทรงตรัสกับ ชาวนิคมกาลามะ ซึ่งกลายเป็นชื่อของสูตรคำสนอนี้ คือ กาลามะสูตร ดังต่อไปนี้

ท่านทั้งหลาย

๑.อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

๒.อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆกันมา

๓.อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้

๔.อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา

๕.อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง

๖.อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน

๗.อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ

๘.อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว

๙.อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

๑๐.อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ท่านได้รับข้อมูลอะไรมาก็ใช้ กาลามะสูตรนี้ช่วยไตร่ตรองเลือกเอาสิ่งควรนำมายึดถือ ก็จะช่วยให้ไม่ต้องเป็นเหยื่อของผู้หลอกลวงในสังคมข่าวสารเช่นปัจจุบันนี้

ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.